--

เมื่อมีการผ่าตัดเกิดขึ้นสิ่งที่จำเป็นอีกหนึ่งอย่างก็คือ ยาแก้ปวด หลังผ่าตัด เพราะแน่นอนว่าการผ่าตัดย่อมมีความเจ็บปวดตามมา แต่การบรรเทาด้วยยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีอะไรบ้าง เราไปดูพร้อมกันเลยค่ะ

ลักษณะของความปวดหลังผ่าตัดจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่นาน ซึ่งจะเป็นความปวดเฉียบพลัน โดยในช่วงหลังการผ่าตัดวันที่ 1-3 ท่านอาจมีความรู้สึกปวดค่อนข้างมาก ซึ่งลักษณะความปวดอาจเป็นความรู้สึกไม่สุขสบาย ปวดตึงๆ เจ็บจี๊ดๆ ปวดตุ๊บๆ แน่นๆ หรือปวดเมื่อย ปกติความปวดจะค่อยลดลงหลังการผ่าตัดวันที่ 3 โดยค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ความปวดจะลดลงอย่างมากประมาณช่วงหลังผ่าตัดได้ 1-2 สัปดาห์ และความปวดจะหมดไปภายใน 1-2 เดือนหลังการผ่าตัด

แนวทางการจัดการความเจ็บปวด Pain Management

การจัดการความเจ็บปวดที่เหมาะสมด้วยยาระงับปวดเป็นสิ่งสำคัญในขั้นตอนการผ่าตัดรักษา และในช่วงหลังการผ่าตัดรักษา เพื่อให้สามารถจัดการกับอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางการจัดการความเจ็บปวด (Pain Management) หลากหลายรูปแบบจึงได้มามีบทบาทสำคัญมาก

โดยวิธีการระงับปวดและการใช้ยาแก้ปวดที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการป่วยหรือแผนการผ่าตัดที่วางไว้ รวมถึงสภาวะและความต้องการของคนไข้ ซึ่งการผ่าตัดแต่ละชนิดก่อให้เกิดความปวดหลังผ่าตัดได้ไม่เท่ากัน โดยแผนระงับปวดหลังผ่าตัด จะขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดเล็ก กลาง หรือใหญ่ บริเวณที่ได้รับการผ่าตัด และความสอดคล้องกับเทคนิคระงับความรู้สึกที่ได้รับ อาทิ ยาชาเฉพาะที่ หรือยาระงับความรู้สึก ดังนั้น การวางแผนป้องกันและควบคุมความปวด ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด จะช่วยให้การระงับปวดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

วิธีการจัดการความเจ็บปวด Pain Management

วิธีการจัดการความเจ็บปวดโดยใช้ ยาแก้ปวด ส่วนใหญ่มักใช้วิธีระงับปวดโดย การฉีดยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) หรือ การฉีดยากลุ่มโอปิออยด์ (opioid) เข้าทางหลอดเลือดดำ แต่ยังมีผู้ป่วยบางรายมีข้อจำกัดในการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS เช่น มีการแพ้ยาหรือมีโรคกระเพาะ ฯลฯ การระงับปวดด้วยการฉีดยาในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) เพียงอย่างเดียว ก็อาจไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายปวด หรือลดอาการปวดได้ดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้ เช่น มีความรู้สึกตัวลดลง เกิดกดการหายใจ มีอาการคันตามผิวหนัง ท้องผูก เป็นต้น

ดังนั้น การฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerve Block) จึงได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยระงับปวดหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีระงับปวดที่มีประสิทธิภาพสูง และปลอดภัย โดยเป็นการใช้เข็มหรือใส่สายคาเพื่อให้ยาชาที่บริเวณเส้นประสาทส่วนปลาย เพื่อให้ยาชาออกฤทธิ์ยับยั้งการนำสัญญาณประสาทไม่ให้เข้าไปในไขสันหลัง จะทำภายใต้การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง(ultrasound) ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจสอบตำแหน่งเส้นประสาทก่อนจะให้ยา จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการระงับปวดหลังผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง ซึ่งสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัยที่ได้รับการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม การผ่าตัดไหล่ การผ่าตัดกระดูกซี่โครงหัก เป็นต้น

นอกจากการจัดการความปวดโดยใช้ยาแล้ว ยังมีวิธีการบรรเทาความปวดโดยไม่ใช้ยา ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละโรคและแต่ละราย และระดับของความเจ็บปวด เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ด้วยการใช้ความเย็นบรรเทาปวด การจัดท่าหรือยกแขน ขาข้างที่ปวดสูง เพื่อลดอาการปวด บวม การนวดคลึงเบาๆ บริเวณที่ไม่มีแผลหรือสายน้ำเกลือ การเปลี่ยนท่าที่ถูกต้อง เช่น ใช้วิธีการตะแคงตัว ในการเปลี่ยนท่าจากนอนเป็นนั่ง หรือจากนั่งเป็นนอนจะช่วยลดการเกร็งกล้ามเนื้อและการตึงของแผลผ่าตัดจากการเปลี่ยนท่านั่งหรือนอนได้ เป็นต้น

ยาแก้ปวดแบบรับประทาน
Paracetamol medicine tablets on dark background
ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)

ยาพาราเซตามอลออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เป็นยาสามัญประจำบ้านที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในใจของผู้ป่วยส่วนใหญ่เวลาปวดหัว มีไข้ และครั่นเนื้อครั่นตัว

ข้อควรระวัง

  • ห้ามกินยากันไว้ก่อนจะมีไข้
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลร่วมด้วย
  • ห้ามใช้ยาเกินขนาด ผู้ใหญ่ควรกินเว้นห่างกันทุกๆ 4 ชม. ในปริมาณ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม หรือ 8 เม็ดต่อวัน
  • ห้ามใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกิน 5 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์

ข้อควรระวัง

  • หากมีภาวะการทำงานของตับผิดปกติ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
  • ห้ามใช้ยากับคนที่แพ้ยาพาราเซตามอลเด็ดขาด อาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
  • หากใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหงื่อออก ถ้ามีอาการรุนแรงอาจมีอาการแสดงของภาวะตับวายเจาะเลือดพบว่ามีเอมไซม์ที่แสดงถึงการบาดเจ็บของตับ  ซึม สับสน เสียชีวิตได้
ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxant)

ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ออกฤทธิ์ช่วยลดการตึงตัว หดเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก หรือตามภาษาชาวบ้านเรียกรวมๆ ว่าอาการเส้นตึง เนื่องจากเวลาให้หมอนวดแผนโบราณจับเส้นกดจุดจะสัมผัสได้ว่ากล้ามเนื้อแข็งตึงและหดเกร็ง นั่นเอง

มักพบบ่อยในคนวัยทำงานที่ใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนัก ใช้งานผิดท่า หรืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ จึงมีอาการปวดไหล่ ปวดคอ ปวดหลัง และรู้สึกช้ำไปหมดทั้งตัว จนต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อช่วยบรรเทาอาการปวด สามารถช่วยลดปวดในระดับที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลางที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อเท่านั้น  แต่ไม่สามารถลดปวดที่เกิดจากสาเหตุอื่นได้  โดยมากมักใช้ในอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เมื่ออาการดีขึ้นแล้วควรหยุดใช้ยาทันที และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ

ข้อควรระวัง

  • หลังกินยา ห้ามทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง ควบคุมเครื่องจักร  หรือขับขี่ยานพาหนะ เพราะยากลุ่มนี้ทำให้ง่วงและอาจเผลอหลับใน  ทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการ ทำงานได้
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา

  • มึนงงและง่วงซึม
  • ปากและคอแห้ง
  • ท้องผูก
ยาแก้อักเสบ (NSAID, Non-steroidal anti inflammatory)

ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อในระดับปานกลางถึงรุนแรง ออกฤทธิ์ลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย หลังเกิดอุบัติเหตุมีแผลฟกช้ำ ปวดบวม หรืออาการเส้นเอ็นอักเสบ ข้ออักเสบ หรือข้อเสื่อม และยังสามารถใช้ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ และอาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง

  • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคกระเพาะ หรือผู้มีแผลในระบบทางเดินอาหาร
  • ห้ามกิน ‘ยาฆ่าเชื้อ’ (Antibiotic) แทน ‘ยาแก้อักเสบ’ เนื่องจากไม่ใช่ตัวยาเดียวกัน แต่คนมักสับสนจากชื่อ ที่จริงแล้วยาฆ่าเชื้อเป็น ‘ยาปฏิชีวนะ’ ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถยับยั้งอาการอักเสบของเอ็น ข้อต่อ กล้ามเนื้อได้ และยาฆ่าเชื้อไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อเพราะจะเกิดอาการดื้อยาได้ กลับกันก็ไม่ควรกินยาแก้อักเสบแทนยาฆ่าเชื้อเช่นกัน
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ อาจใช้ได้ในขนาดต่ำและระยะเวลาสั้นๆ โดยอยู่ในการควบคุมของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไต

ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา

  • มึนงง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หูอื้อ น้ำมูกไหล เจ็บคอ มักพบมากในผู้ที่กินยาเกินขนาด
  • เกิดผื่นคัน ผิวหนังลอก ใบหน้าและหนังตาบวมเป่งหากแพ้ยา
  • บวมน้ำ หรือน้ำหนักขึ้น
  • กัดกระเพาะ เกิดแผลและเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
  • ปวดท้องเนื่องจากเกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระสีดำ
  • ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น เกิดภาวะตับอักเสบ
  • การใช้ยากลุ่มนี้แม้ว่าในระยะสั้นก็อาจจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และมีปัญหากับไต ดังนั้นคงต้องติดตามความดันและการทำงานของไต

https://www.facebook.com/dr.alexclinic

Leave a reply